ประวัติความเป็นมา: มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย
ผลจากการพัฒนาประเทศหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้สภาพแวดล้อมและสภาพสังคมของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนถึงทุกวันนี้คนไทยเรามีความอยู่ที่สะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความสะดวกสบายที่ว่านี้ไม่ได้ส่งผลดีใดๆ ต่อสรรพสัตว์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ช้าง" สัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่สัญลักษณ์ของประเทศต้องมาทุกข์ทรมานในยุคสมัยของเรา เมื่อปลายปี 2534 ได้มีบุคคลกลุ่มเล็กๆ ที่มีความสนใจในเรื่องช้าง ได้พบปะกัน ทั้งหมดได้ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ของช้างในประเทศทั้งช้างเลี้ยงและช้างป่า ซึ่งได้ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ประมาณกันว่าในประเทศไทยยังมีช้างป่าเหลืออยู่ 2,000 เชือก และช้างบ้านอีกประมาณ 3,000 เชือกรวมแล้วจะมีช้างอยู่ในประเทศไทยประมาณ 5,000 เชือกเป็นอย่างมาก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณเท่านั้น ในรายละเอียดของข้อมูลเราไม่ทราบเลยว่าตัวเลขนี้มีช้างอยู่จริงๆ เท่าไร มีช้างแก่และช้างเด็กจำนวนเท่าใด ช้างที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์อีกจำนวนเท่าใด รายละเอียดเหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของช้างในในเมืองไทยเป็นอย่างมากจากตัวเลข 5,000 เชือก อาจจะดูไม่น้อยแต่ก็นับว่าไม่ได้มากมายแต่อย่างไร เมื่อช้างเหล่านี้ยังมีภัยคุกคามทำให้ต้องบาดเจ็บล้มตายลงไปในทุกๆ ปี อย่างน้อยปีละ 2 % และตราบใดที่ภัยคุกคามเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข อนาคตของช้างในเมืองไทยก็คงจะมืดมนลงไปเรื่อยๆ และโดยที่ช้างเองก็เคยเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณต่อคนไทยนานับประการ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการทำสงคราม การบรรทุก การเดินทาง การทำไม้ และการท่องเที่ยวบางกลุ่มฯ จึงมีความเชื่อมั่นว่าคนไทยที่ รักช้าง สงสารช้าง และอยากจะช่วยช้างนั้นน่าจะมีอยู่จำนวนมาก เพียงแต่ว่าทุกคนยังไม่รู้ว่าช้างกำลังมีปัญหาอะไร และจะช่วยช้างได้อย่างไร ทางกลุ่มจึงได้ตกลงใจกันร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดปัญหา และวิธีการช่วยเหลือช้าง โดยจะแสวงหาความร่วมมือจากคนทั่วไปภายใต้ชื่อว่า "มูลนิธิคนรักช้าง" ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น